บทความน่ารู้จาก อาจารย์ณรงค์ เพชรล้ำ

วิธีการเขียนข้อกำหนดภาระงานและกระบวนการของผลผลิตจากครู ว.PA

ข้อกำหนดภาระงานและกระบวนการของผลผลิตจากครู และข้อกำหนดผลลัพธ์คุณภาพผู้เรียน
จากการวิเคราะห์ PA ว3 ด้านการจัดการเรียนรู้ ข้อ 4
ด้านการจัดการเรียนรู้ ข้อ 4 สร้างและพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดและสามารถสร้างนวัตกรรมได้
การวิเคราะห์ข้อกำหนดภาระงาน และผลผลิต
ข้อกำหนดภาระงาน "สร้างและพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้" เมื่อตีความหมาย “สร้างและพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้” ภายใต้เงื่อนไข “ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้” แสดงว่าให้นำกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่ระบุไว้ในหน่วยการเรียนรู้/แผนการเรียนรู้ และนำกิจกรรมการเรียนรู้เสริมหลักสูตรตามแผนแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มาใช้เป็นเงื่อนไขการสร้างและพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ ซึ่งได้แก่
(1) กิจกรรมการเรียนรู้สื่อสถานการณ์กระตุ้นประเด็นปัญหา โดยครูจะนำเงื่อนไขของสถานการณ์กระตุ้นที่เชื่อมโยงกับสาระการเรียนรู้ของมาตรฐานการเรียนรู้ มาเขียนคุณลักษณะเฉพาะของเรื่องราวประสบการสำคัญ หรือสคริปต์เรื่องราว ของสื่อกระตุ้นประเด็นปัญหา ไปพร้อมกับคำถามกระตุ้นนำปัญหาในใบงาน เพื่อจัดทำภาระงานที่ 1 การจัดหา หรือสร้างและพัฒนาสื่อกระตุ้นประเด็นปัญหา
(2) กิจกรรมการสืบค้นหลักความรู้ตามข้อกำหนดของสาระการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้รายวิชา โดยครูจะทำนำผลการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงหลักความรู้ตามสาระการเรียนรู้รายวิชา กับหลักความรู้ (K) หลักการปฏิบัติ (P) หลักยึดคุณลักษณะนิสัย (A) ของตัวชี้วัดหรือผลการเรียนรู้ นำมาเขียนขอบเขตของคุณลักษณะเฉพาะสาระสำคัญของหลักความรู้ที่มีความซับซ้อนสอดคล้องกับระดับชั้นของนักเรียน เพื่อจัดทำภาระงานที่ 2 การจัดหา หรือสร้างและพัฒนาสื่อความรู้รูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นใช้ตรงตามหลักสูตรท้องถิ่น
(3) กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจนำหลักความรู้และหลักการทำงาน แก้สาเหตุกระบวนการเกิดปัญหา โดยครูจะนำขอบเขตคุณลักษณะเฉพาะของปัญหาไปกำหนดเงื่อนไข และสมรรถนะที่นักเรียนจะต้องทำตามภาระงาน เพิ่มเติมให้นักเรียนแก้ปัญหา หรือประยุกต์พัฒนาผลงาน เพื่อจัดทำภาระงานที่ 3 การนำเงื่อนไข และสมรรถนะตามภาระงาน ไปกำหนดขอบเขตคุณลักษณะเฉพาะของสื่อด้านวิทยาการและเทคโนโลยี ลักษณะแหล่งเรียนรู้หรือสถานประกอบการให้นักเรียนไปศึกษาและถอดประสบการณ์
(4) กิจกรรมการเรียนรู้คุณลักษณะนิสัยการทำงาน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามประสบการณ์สำคัญของกิจกรรมตามหลักสูตร ได้แก่ ลูกเสือ-ยุวกาชาด-เนตรนารี นักศึกษาวิชาทหาร กิจกรรมชั่วโมงอิสระ และกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามวาระและวันสำคัญของชาติและศาสนา โดยครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมหรือโครงการจะนำข้อกำหนดคุณลักษณะนิสัย และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของประสบการณ์สำคัญตามแผนแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มาเขียนขอบเขตคุณลักษณะเฉพาะของสถานที่ แหล่งเรียนรู้ ครุภัณฑ์ สื่ออุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่นำไปใช้อำนวยความสะดวกการจัดประสบการณ์สำคัญ เพื่อจัดทำภาระงานที่ 3 การประสานงานจัดหา และพัฒนาคู่มือประกอบการใช้งานสถานที่ แหล่งเรียนรู้ ครุภัณฑ์ สื่ออุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่นำไปใช้อำนวยความสะดวกการจัดประสบการณ์กิจกรรมตามหลักสูตร
(5) กิจกรรมการเสริมสร้างประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ ตามความสนใจ ความถนัดตามบุคลิกภาพและสาขาวิชาความถนัดด้านอาชีพ ได้แก่ กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมความร่วมมือโครงการทางวิชาการ และกิจกรรมฝึกประสบการณ์เสริมทักษะและสมรรถนะตามภาระงาน โดยครูผู้รับผิดชอบกิจกรรม หรือโครงการความร่วมมือ จะนำข้อกำหนดปนระสบการสำคัญตามเงื่อนไขการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของภาระงาน มาเขียนขอบเขตคุณลักษณะเฉพาะของสื่อ ครุภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ หรือสถานประกอบการ รวมถึงสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดทำภาระงานที่ 4 การประสานงาน หรือจัดหา สร้างหรือพัฒนาสื่อ เทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนแนวทางการจัดประสบการณ์สำคัญกิจกรรมความสนใจและความถนัดด้านอาชีพ
ดังนั้นข้อกำหนดภาระงาน จึงมุ่งไปที่ภาระงานการจัดหา สร้างและพัฒนาสื่อกระตุ้นประเด็นปัญหา การจัดหา สร้างและพัฒนาสื่อความรู้ตามตัวชี้วัดรายวิชาหรือผลการเรียนรู้ การจัดหา สร้างและพัฒนาสื่อ เทคโนโลยี วิทยาการ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนประยุกต์พัฒนานวัตกรรม และการประสานงานจัดหาสื่อ เทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ สถานประกอบการ หน่วยงานและสถาบันการศึกษาภาครัฐและเอกชน ในการสร้างเสริมทักษะ และสมรรถนะตามภาระงาน ของประสบการณ์สำคัญในกิจกรรมตามหลักสูตร และเสริมหลักสูตร โดยทั้ง 4 ภาระงาน จะต้องเป็นไปตามหลักฐานการทำภาระงานได้จาก “การจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้/แผนการเรียนรู้” และ “แผนแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตร และเสริมหลักสูตร” ซึ่งจัดเป็นระดับผลผลิตตามภาระงานในข้อ 2 และข้อ 3 ด้านการจัดการเรียนรู้ ของ PA ว3
การวิเคราะห์ข้อกำหนดของผลลัพธ์ คุณภาพผู้เรียน
ข้อกำหนดผลลัพธ์ “ให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดและสามารถสร้างนวัตกรรมได้” เมื่อตีความหมาย แสดงถึงกระบวนการทำภาระงาน และผลผลิตของครู จะทำให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ คือ
(1) “มีทักษะการคิด” ซึ่งตามนิยามของ “ทักษะ” คือการฝึกฝนซ้ำ ๆ การเกิดผลไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยทักษะการคิด จะเป็นผลมาจากการถูกกระตุ้นด้วยเงื่อนไของสถานการณ์เพื่อให้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งประเด็นปัญหา เพื่อให้นักเรียนอยากรู้สาเหตุและกระบวนการเกิดปัญหา ที่ครูจะเสนอแนะไปสืบค้นจากสื่อความรู้ที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ แล้วให้นักเรียนได้อภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามกระบวนการกลุ่ม ในการให้เหตุผลเชื่อมโยงหลักความรู้อย่างเป็นระบบ และหาข้อสรุปคำตอบของสมมติฐาน ซึ่งกระบวนการที่นักเรียนจะได้ทักษะความรู้ตามตัวชี้วัดนั้น ครูจะต้องจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกชุดทักษะความรู้ตามตัวชี้วัดรายวิชา เพื่อให้นักเรียนได้ตรวจสอบจุดบกพร่องความรู้ และทำการทบทวนแก้ไข ซ่อมเสริมจนผ่านเกณฑ์ปริมาณความรู้ของตัวชี้วัด กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว นักเรียนจะเกิดทักษะการเรียนรู้สำคัญในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะการคิดให้เหตุผลอย่างเป็นระบบของสาเหตุการเกิดปัญหา ทักษะการแก้ปัญหาในประเด็นสาเหตุที่มาของปัญหา ทักษะการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มาของปัญหาและได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหา ที่สำคัญ คือได้ทักษะเชิงคุณลักษณะการทำงานร่วมกันตามเงื่อนไขกระบวนการกลุ่ม
(2) “สามารถสร้างนวัตกรรมได้” ซึ่งตามนิยามของ “นวัตกรรม” คือ ผลงานที่คิดค้นใหม่อย่างสมเหตุผลเชื่อมโยงกันเป็นระบบเป็นที่ยอมรับของบุคคลกลุ่มหนึ่ง โดยที่ผลงานนั้นเป็นผลมาจาก สมรรถนะตามภาระงานของผลงาน ซึ่งภาระงานจะเป็นกระบวนการ ขั้นตอนและเทคนิควิธีการทำงาน โดยนำเอาหลักความรู้เดิมตามหลัก K, P, A ของตัวชี้วัด มาอธิบายสาเหตุและกระบวนการเกิดปัญหา และนำเอาหลักความรู้ใหม่ที่เกิดจากแรงบันดาลใจของวิทยาการและเทคโนโลยี นำมาใช้ปรับแก้ไขกระบวนการ ขั้นตอนและเทคนิควิธีการที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เกิดเป็นการประยุกต์ หรือประดิษฐ์ผลงานเชิงนวัตกรรมขึ้นมาใช้งาน กระบวนการได้มาซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว นักเรียนจะได้ “ฝึกสมรรถนะ” ตามกระบวนการของภาระงาน ที่ครูได้กำหนดเงื่อนไขและสถานการณ์ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงกับการนำเอาหลักความรู้ของสาระการเรียนรู้ และวิทยาการและเทคโนโลยีไปใช้อธิบายเหตุผลตามภาระงาน ทั้งนี้ สมรรถนะ ตามเงื่อนไขและสถานการณ์ของจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ จะถูกจัดเป็นกลุ่มประสบการณ์สำคัญ คือ กลุ่มประสบการณ์การสื่อสาร กลุ่มประสบการณ์การทักษะการคิด กลุ่มประสบการณ์การใช้ทักษะชีวิตและมีสุขภาวะที่ดี และกลุ่มประสบการณ์การเป็นพลเมืองของประเทศและวิถีศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม
ตัวชี้วัดระดับผลผลิต ตามภาระงาน/กระบวนการของครู
เชิงปริมาณ "ร้อยละของสื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ และสื่อนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ที่ปรากฏในหน่วยการเรียนรู้และแผนการเรียนรู้ ถูกนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้”
เชิงคุณภาพ "ระดับคุณภาพของสื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ และสื่อนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยผลประเมินคุณภาพเป็นไปตามกระบวนการของภาระงาน การจัดทำหรือจัดหา สื่อสิ่งพิมพ์ หรือ สื่อเทคโนโลยี หรือ แหล่งเรียนรู้ ใช้เป็นสถานการณ์กระตุ้น และเป็นที่ถอดประสบการณ์ ฝึกงาน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นไปตามกระบวนการของภาระงาน การจัดทำหรือจัดหา สื่อความรู้รูปแบบสิ่งพิมพ์หรือสื่อความรู้รูปแบบเทคโนโลยี ใช้สืบค้น ศึกษา ตามประเด็นปัญหาและสมมติฐาน และใช้สร้างแรงบันดาลใจพัฒนานวัตกรรม เป็นไปตามกระบวนการของภาระงานการวิจัยพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ ใช้แก้ปัญหาบริบทสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรค์การจัดการเรียนรู้ และตัวผู้เรียน”
ตัวชี้วัดระดับผลลัพธ์ คุณภาพผู้เรียน
1. ร้อยละของนักเรียนรายวิชามีทักษะการคิดวิเคราะห์ การตั้งปัญหาและสมมติฐาน ในการใช้การสังเกตตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จากการตอบคำถามกระตุ้นนำประเด็นปัญหาได้ในใบงาน (กลุ่มสาระการเรียนรู้เลือกตามรูปแบบการออกแบบสถานการณ์หน่วยการเรียนรู้)
2. ร้อยละของนักเรียนรายวิชามีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ในการนำหลักความรู้ไปให้เหตุผลอธิบายสาเหตุของปัญหา และกระบวนการแก้ปัญหา ตามกระบวนการทางคณิตศาสตร์ จากการสืบค้น ศึกษาสื่อการเรียนรู้ และตอบข้อสมมติฐานในใบงาน (กลุ่มสาระการเรียนรู้เลือกตามรูปแบบการออกแบบสื่อการเรียนรู้)
3. ร้อยละของนักเรียนรายวิชามีทักษะการแก้ปัญหาประยุกต์พัฒนานวัตกรรม ในการนำหลักความรู้ และหลักการทำงานของเทคโนโลยี ไปสร้างแรงบันดาลใจ ให้เหตุผลอธิบายกระบวนการแก้ปัญหา ตามกระบวนการทางคณิตศาสตร์ จากการสืบค้น ศึกษาสื่อการเรียนรู้ และตอบข้อสมมติฐานในใบงาน (กลุ่มสาระการเรียนรู้เลือกตามรูปแบบการออกแบบสื่อการเรียนรู้)
4. ร้อยละของนักเรียนรายวิชามีทักษะการใช้เทคโนโลยี ในการใช้สื่อเทคโนโลยี สืบค้นหลักความรู้ และหลักการทำงานของเทคโนโลยี ไปสร้างแรงบันดาลใจ ให้เหตุผลอธิบายสาเหตุของปัญหา และกระบวนการแก้ปัญหา ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทางคณิตศาสตร์ ในการพิสูจน์ข้อสมมติฐานในใบงาน (กลุ่มสาระการเรียนรู้เลือกตามรูปแบบการออกแบบสื่อการเรียนรู้)

อ่านต่อ...